สาระน่ารู้
ช่วยกันอ่อนหวาน ใช้น้ำตาลซองไม่เกิน 4 กรัม
ผลสำรวจคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยปีละ 30 กิโลกรัมต่อคน หรือวันละ 20 ช้อนชา สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า เพราะมาตรฐานน้ำตาลที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้น การบริโภคน้ำตาลเกินก่อให้เกิดปัญหาโรคอ้วน เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง อาทิ ความดัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทผู้ผลิตน้ำตาล ผู้ประกอบการโรงแรมสถานที่จัดประชุม เร่งรณรงค์สร้างค่านิยม "คนไทยอ่อนหวาน ใช้น้ำ ตาลซองไม่เกิน 4 กรัม" โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการน้ำตาลทรายบรรจุซอง 47 แห่ง ให้ผลิตน้ำตาลซองขนาด 4 กรัม พร้อมขอความร่วมมือโรงแรม สถานที่จัดประชุม ประมาณ 8,000 แห่ง หันมาใช้น้ำตาลซองขนาด 4 กรัม ทั้งนี้น้ำตาลอยู่ในอาหารมื้อหลักอยู่แล้ว เช่น กับข้าว ขนม ซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงยาก ดังนั้น เครื่องดื่มจึงมีทางเลือก ชา กาแฟที่คนไทยนิยมใส่น้ำตาลเพื่อลดความขมนั้น หากหันมาใช้น้ำตาลซอง 4 กรัม จะลดปริมาณน้ำตาลได้คนละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อปี หรือเทียบเท่าพลังงานที่ใช้ในการเดินไปกลับกรุงเทพฯ สระบุรี
|
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคไข้ซิกา
|
ครั้งแรกของโลกทีมวิจัยม.มหิดลสร้างแอนติบอดีรักษาไข้เลือดออก
ครั้งแรกของโลก ทีมวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล สร้างแอนติบอดีจากมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออก ระบุทีมวิจัยฯ คว้ารางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นดีเด่นปี 59 จาก วช. พร้อมเข้ารับรางวัล 2 ก.พ.นี้ ที่ไบเทค บางนา รศ.นสพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า 2 ใน 5 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี และพบว่าประชากรประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัส เดงกี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวนถึง 5 แสนคน ที่เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรง ที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 2 หมื่นคนต่อปี ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาหรือวัคซีนเฉพาะ การรักษาโรคไข้เลือดออกยังต้องใช้การรักษาตามอาการ ทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกในการสร้างแอนติบอดีจากมนุษย์ (NhuMAb) โดยคัดเลือกจากเซลล์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกระยะเฉียบพลัน และผู้ป่วยระยะฟื้นไข้ เป็นแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ทดสอบในหนู และ ลิง พบว่า NhuMAb สามารถเพิ่มการรอดชีวิตของหนู และสามารถทำลายไวรัสไข้เลือดออกเดงกีในกระแสเลือดของลิงได้หมดภายใน 2 วัน โดยได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี 2552 จดสิทธิบัตรมาแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้ได้ในมนุษย์ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ รศ.นสพ.ดร.พงศ์ราม กล่าวอีกว่า NhuMAb ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นประโยชน์กับการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก เพราะยังคงไม่มียารักษาเฉพาะ รวมทั้งใช้ลดความรุนแรงของอาการป่วยจากไข้เลือดออกได้ NhuMAb จึงเป็นอีกหนทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกที่ต้องการได้ยารักษาและไม่อยากป่วยเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรง โดยทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้ารับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นดีเด่น ประจำปี 2559 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์ 2559 จัดที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ แหล่งข่าวโดย » คมชัดลึก(21 มค.59) |
WHO ประกาศ "ไวรัสซิกา" เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวว่า การตอบสนองภายใต้ความร่วมมือระดับนานาชาติ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อปรับปรุงการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เร่งมือด้านการพัฒนาวัคซีนและการวิฉัยโรคที่ดีกว่าเดิม เดินหน้าป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา และเร่งมือพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทางและการค้าระหว่างประเทศก็ตาม ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไวรัสซิกา ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับภาวะพิการแต่แรกคลอดของทารกหลายพันคนในบราซิล กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว สถานการณ์เข้าเงื่อนไขต่าง ๆ จึงต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไวรัสซิกากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในทวีปอเมริกา และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อสูงถึง 4 ล้านคน และขณะนี้ที่บราซิลพบเด็กทารกแรกคลอดที่มีอาการสมองเล็ก ซึ่งเกิดจากมารดาติดเชื้อไวรัสซิการะหว่างตั้งครรภ์แล้ว 3,700 คน แหล่งข่าวโดย » เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (2 กพ.59) |
23 โรคติดต่ออันตรายที่ต้องแจ้งความ
โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตราย สามารถติดต่อกันได้ง่าย รวมทั้งถ้าหากเกิดการติดต่ออาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ไว้เพื่อเป็นการระวังไว้ก่อน โดยโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความนั้น ปัจจุบัน (ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559) มีทั้งหมด 23 โรค ดังนี้ 1. อหิวาตกโรค 2. กาฬโรค 3. ไข้ทรพิษ 4. ไข้เหลือง 5. ไข้กาฬหลังแอ่น 6. คอตีบ 7. โรคบาดทะยักในทารกแรกเกิด 8. โปลิโอ 9. ไข้หวัดใหญ่ 10. ไข้สมองอักเสบ 11. โรคพิษสุนัขบ้า 12. ไข้รากสาดใหญ่ 13. วัณโรค 14. แอนแทร็กซ์ 15. โรคทริคิโนซิส 16. โรคคุดทะราด เฉพาะในระยะติดต่อ 17. โรคอัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลันในเด็ก 18. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง 19. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ประกาศ ณ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552) 20. ไข้เลือดออก (ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552) 21. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (ประกาศ ณ วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ 2557) 22. โรคเมอร์ส (MERS) (ประกาศ ณ วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ 2558) 23. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม http://health.kapook.com/view122006.html |